สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 198 ผู้ใดดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี หรือกระทำการขัดขวางการพิจารณาหรือพิพากษาของศาล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

คำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19706/2555

จำเลยไม่ได้ยืนยันว่าโจทก์ร่วมทุจริต เพียงแต่สงสัยในพฤติการณ์ของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้พิพากษาในคดีที่จำเลยถูกผู้อื่นฟ้องที่มีคำสั่งให้งดชี้สองสถานกับงดสืบพยานในคดีนั้น แม้ว่าเป็นอำนาจและดุลพินิจของโจทก์ร่วม แต่ก็เป็นการใช้ดุลพินิจและอำนาจที่คลาดเคลื่อน เพราะหลังจากนั้นศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งโจทก์ร่วมเป็นองค์คณะ และย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นทำการสืบพยานโจทก์และจำเลย และที่โจทก์ร่วมสั่งไม่รับอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ก็มีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงไว้แล้ว นอกจากนี้จำเลยยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2554 เวลา 10.50 นาฬิกา แต่โจทก์ร่วมไม่ได้สั่งอุทธรณ์ในวันดังกล่าว ต่อมาโจทก์ร่วมสั่งรับอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยประทับตรายางวันเดือนปี คือ เมษายน 2554 แต่มีการลบวันที่ซึ่งน่าจะเป็นวันที่ 27 และเขียนด้วยลายมือโจทก์ร่วมเป็นวันที่ 30 การที่จำเลยไปพบ ส. ซึ่งรับราชการในตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 ที่โจทก์ร่วมรับราชการอยู่ในเขตอำนาจเพียงประสงค์จะให้ ส. ดูแลผู้พิพากษาในภาคให้มากกว่านี้ ไม่ได้ไปพบในลักษณะที่ว่าจะให้ตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์ร่วม แม้ตามบันทึกเรื่องราวที่จำเลยมอบให้ ส. จะมีข้อความเกินเลยไปบ้าง แต่ก็มีลักษณะเป็นการปรับทุกข์และระบายความทุกข์กับ ส. ที่ดูแลผู้พิพากษาภายในภาค 7 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ และดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดีตาม ป.อ. มาตรา 136 และ 198

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1650/2514

จำเลยถูกฟ้องคดีอาญาเรื่องหนึ่ง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลย ขณะคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาจำเลยได้ประพันธ์ พิมพ์ และนำออกโฆษณา ทำให้แพร่หลายไปถึงประชาชนซึ่งเอกสารสิ่งพิมพ์ กล่าวถึงการกระทำของผู้ทำการแทนในตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าเป็นผู้จัดให้ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีและตัวผู้ทำการแทนฯ เองก็มีพฤติการณ์ให้การพิพากษาคดีดังกล่าวเป็นไปโดยรวบรัดไม่ชอบด้วยหลักยุติธรรมและกล่าวถึงการกระทำของศาลอาญาศาลอุทธรณ์ และผู้พิพากษาที่พิจารณาพิพากษาคดีนั้นว่า "พิพากษาลงโทษจำเลย โดยไม่คำนึงถึงหลักกฎหมาย หลักความยุติธรรม ประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจะวิ่งไปขอความยุติธรรมต่อศาลให้สิ้นเปลืองเงินทองเพื่อประโยชน์อันใด..." ดังนี้ เป็นข้อความที่เรียกได้ว่าจำเลยกล่าวในทำนองตำหนิศาลอาญา ศาลอุทธรณ์ และผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะที่ทำการพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ไม่เป็นที่พึ่งของประชาชน นับว่าเป็นการกระทำที่แสดงต่อศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาคดีจึงเป็นถ้อยคำดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198

เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 แล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 136 อีก (อ้างฎีกาที่ 1456/2506)

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10611/2555

แม้การที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งกำหนดมาตรการและวิธีการคุ้มครองบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 66 ประกอบระเบียบของที่ประชุมใหญ่ในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ข้อ 77 ที่กำหนดให้นำความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งลักษณะ 1 ของภาค 4 วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้ เป็นการกระทำตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งอันเกี่ยวด้วยคดีซึ่งศาลได้กระทำต่อคู่ความฝ่ายหนึ่งและเป็นกระบวนพิจารณาก่อนที่ศาลชี้ขาดตัดสินคดี อันเป็นการพิจารณาคดีของศาลตามความหมายของคำว่า กระบวนพิจารณา และการพิจารณา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (7) และ (8) ก็ตาม แต่ก็แยกพิจารณาได้เป็นอีกส่วนหนึ่งจากการพิจารณาพิพากษาในเนื้อหาแห่งคดีที่ฟ้องร้องกัน ทั้งกระบวนพิจารณาของศาลปกครองกลางในการออกคำสั่งดังกล่าวก็ได้เสร็จสิ้นไปแล้ว คงเหลือแต่ผลบังคับถึงจำเลยที่ 2 ให้ต้องปฏิบัติตามเป็นการชั่วคราวก่อนที่คดีที่ฟ้องร้องกันนั้นจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด หากจำเลยที่ 2 ซึ่งทราบคำสั่งแล้วไม่ปฏิบัติตาม กระบวนพิจารณาที่เสร็จสิ้นไปแล้วก็ไม่อาจถูกขัดขวางทำให้ไม่สะดวกหรือต้องติดขัดจากการกระทำดังกล่าวไปได้ ทั้งการพิจารณาพิพากษาในเนื้อหาแห่งคดีที่ฟ้องร้องกันก็ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้เป็นอีกส่วนหนึ่ง การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวจึงไม่เป็นการขัดขวางการพิจารณาหรือพิพากษาของศาลอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 198

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร